วันอังคารที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2557

เรื่องย่อ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ยุทธหัตถี


 ภายหลังจากที่สมเด็จพระนเรศวร (พันโทวันชนะ สวัสดี) ทรงประกาศเอกราชที่เมืองแครง พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) ก็ให้จัดทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเป็นหลายทัพ แต่ก็หามีทัพใดทำการสำเร็จไม่ พระเจ้านันทบุเรงเกรงว่าหากหงสาวดีมิอาจกำราบอยุธยาลงได้ นานไปเหล่าเจ้าประเทศราชอื่นจะเอาเยี่ยง พากันแข็งข้อต่อหงสา

          ในปีพุทธศักราช 2129 พระองค์จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์ไพร่พลกว่า 2 แสนข้ามแดนเข้าตีกรุงศรีอยุธยาหมายชิงคืนเป็นประเทศราช ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศทรงใช้พระนครเป็นยุทธภูมิรับศึก และวางยุทธศาสตร์ตั้งรับในเชิงรุก คือมิทรงปล่อยให้ทัพหงสาที่ล้อมกรุงเป็นฝ่ายรุกรบแต่ฝ่ายเดียว แต่ทรงแต่งกองโจรบุกปล้นค่ายศัตรูให้ต้องตกเป็นฝ่ายรับจนมิอาจรุกเข้าเหยียบถึงคูพระนคร เมื่อล้อมกรุงนานเข้า ทัพหงสาวดีก็ขาดเสบียง สมเด็จพระนเรศก็ทรงนำเรือปืนขึ้นไปยิงถล่มค่ายหลวงพระเจ้านันทบุเรง จนพม่าแตกระส่ำระสาย จอมทัพพม่าบาดเจ็บสาหัสถึงกับเสียพระสิริโฉมและทุพพลภาพ พม่าต้องถอนทัพกลับหงสาวดี และขณะเมื่อค่ายหลวงพม่าแตกนั้น แม่นางเลอขิ่น (ทราย เจริญปุระ) ก็ได้ช่องช่วยพระราชมนู (นพชัย ชัยนาม) จากพันธนาการคืนเข้าอยุธยาได้

          พระเจ้านันทบุเรงทรงแค้นเคืองที่ต้องปราชัยต่อสมเด็จพระนเรศอย่างย่อยยับ จึงระบายความแค้นนั้นไปที่องค์พระสุพรรณกัลยา (เกรซ มหาดำรงค์กุล) ซึ่งตกเป็นองค์ประกันอยู่หงสา ด้วยอารมณ์รักและแค้นระคนกัน พระองค์ได้ล่วงประเวณีพระพี่นางพระนเรศและยังทำร้ายพระนางถึงตกพระโลหิต เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) พระราชบิดาทราบความก็ให้โทมนัสด้วยสำนึกว่าชะตากรรมของพระราชธิดาและแผ่นดินของอยุธยา ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ที่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างให้หงสาวดีกระทำการย่ำยีก็ด้วยเป็นเพราะพระองค์ทรงแปรพักตร์ไปเข้าข้างศัตรู อยู่มาสมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ตรอมพระทัยเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศจึงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระราชบิดา

          ข่าวการผลัดแผ่นดินของอยุธยารู้ไปถึงพระเจ้านันทบุเรง พระองค์สำคัญว่าราชอาณาจักรสยามจะไม่เป็นปกติสุข เป็นช่องชวนชิงเชิงจึงโปรดให้มังสามเกียด (นภัสกร มิตรเอม) อุปราชเจ้าวังหน้ากรีฑาทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศทรงดำริจะนำกำลังออกไปรับศึกถึงหนองสาหร่ายแดนเมืองสุพรรณบุรีด้วยเห็นว่าทัพพระมหาอุปราชานั้นถึงแม้จะมากด้วยกำลังรี้พลแต่ทหารหาญที่เกณฑ์มาหากมิเยาว์ด้วยวัยวุฒิก็ชราภาพ กำลังพลมิได้เข้มแข็งดั่งทัพพระเจ้านันทบุเรง ข้างพระมหาอุปราชานั้นยกทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ผ่านลงมาถึงเมืองกาญจนบุรีก็ได้แต่เมืองเปล่า ให้ไพร่พลออกเที่ยวลาดหาจับผู้คนก็ไม่ได้ จึงยกพลล่วงลงมาปักค่ายที่ตะพังตรุ

          ข้างสมเด็จพระนเรศทรงโปรดให้พระราชมนูแต่งพลเป็นทัพหน้าขึ้นไปดูกำลังข้าศึกถึงหนองสาหร่าย ทัพหน้าพระราชมนูปะทะเข้ากับทัพพม่าถึงขั้นตะลุมบอน แต่กำลังข้างพระราชมนูน้อยกว่าจึงแตกพ่ายถอยลงมาเป็นอลหม่าน สมเด็จพระนเรศทราบความจึงอุบายให้ทัพข้าศึกไล่เตลิดลงมาจนเสียกระบวนแล้วจึงทรงนำกำลังออกยอทัพข้าศึก ครั้งนั้นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศคือเจ้าพระยาไชยานุภาพ และช้างทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถคือเจ้าพระยาปราบไตรจักรต่างตกน้ำมัน วิ่งร่าเบกพลฝ่าเข้าไปในทัพพม่ารามัญ ไพร่พลข้างอยุธยาตามไม่ทันช้างทรง จะมีก็เพียงพลจุกช่องล้อมข้างที่โดยเสด็จไปทัน

          ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศและสมเด็จพระเอกาทศรถฝ่าเข้ามากลางวงล้อมข้าศึกและมาหยุดอยู่หน้าช้างพระมหาอุปราชา สมเด็จพระนเรศวรจึงประกาศท้าอุปราชหงสาให้ออกมากระทำยุทธหัตถีให้ก่อเกิดเป็นเกียรติแก่แผ่นดิน ด้วยขัตติยมานะ พระมหาอุปราชาก็ไสพระคชาธารออกทำคชยุทธด้วยสมเด็จพระนเรศ ขณะที่มังจาปะโร พระพี่เลี้ยงองค์สมเด็จพระมหาอุปราช (ชลัฏ ณ สงขลา) ได้ออกทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระเอกาทศรถ (พันเอกวินธัย สุวารี) สัประยุทธ์กันเป็นสองคู่ ท้ายที่สุดสมเด็จพระมหาอุปราชาก็ปราชัยสิ้นพระชนม์ด้วยคมง้าวของสมเด็จพระนเรศ ข้างมังจาปะโรก็พ่ายแพ้แก่สมเด็จพระเอกาทศรถตายกับคอช้าง ทัพหงสาก็มีอันปราชัยต้องถอยทัพนำพระศพพระมหาอุปราชาคืนสู่นครหงสาวดี













ตัวอย่าง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 5 ยุทธหัตถี

ที่มา.กระปุกดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น