วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2557

ปัจจัยที่ทำให้ไม้แคระ หรือ บอนไซ

ท่านผู้สนใจคงทราบดีแล้วว่า ต้นไม้ตามธรรมชาติจะเจริญเติบโตได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับราก ซึ่งเปรียบเสมือนท่อลำเลียง ทำหน้าที่หาอาหารส่งไปเลี้ยงลำต้น กิ่งและใบ ตลอดจน ดอกและผล ส่วนใต้ดินจำเป็นต้องได้รับการดูแลเช่นเดียวกับการดูแลชื่นชมส่วนบนดิน คือลำต้น รูปทรง กิ่งก้าน สาขา ความสัมพันธ์ของทั้งสองส่วนที่กล่าวเกี่ยวข้องกันโดยตรง คือถ้า รากเจริญแข็งแรงดีก็จะสามารถหาอาหารได้มาก รากก็ต้องงอกยาวออกไปหาอาหารได้ เพียงพอแก่ความต้องการของต้นไม้ แต่บอนไซเป็นศิลปะที่มนุษย์สร้างสรรค์ปั้นแต่งให้แคระแกรนฝืนธรรมชาติ  จึงต้องใช้วิธีบังคับ การบังคับต้นไม้ให้เจริญเติบโตอยู่ในสภาพที่ต้องการ จึงต้องพิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้
        
                1 . กระถาง ดิน ราก
                       กระถางที่ใช้ใส่บอนไซ ที่นิยมกันและถือเป็นรูปแบบคือเป็นกระถางตื้นแบนคล้ายถาด ตรงกับคำญี่ปุ่นว่า บอน ซึ่งแปลว่าถาด ส่วนรูปแบบนั้นอาจจะเป็นสี่เหลี่ยม กลม รูปไข่ ขนาดเล็กใหญ่ตามความเหมาะสมของไม้บอนไซ  เมื่อกระถางเล็กพื้นที่จำกัด ดินที่บรรจุในกระถางมีปริมาณน้อย ความจุของกระถางจึง สัมพันธ์กับปริมาณของดินและรากของต้นไม้ที่ปลูก ก่อนปลูกจึงต้องประมาณให้ได้สมส่วนกัน คือ ให้ได้ปริมาณพอเพียงที่รากจะหาอาหารได้พอที่จะอยู่ได้ ไม่มากเกินจนไม้เติบโตงอกงามเกินไป หรือน้อยเกินไปจนต้นไม้ขาดอาหาร ไม้จึงถูกบังคับให้ต้นแคระแกรนได้อย่างคงที่ ดังนั้นเมื่อปลูกไว้นานๆ จนรากกินดินไปเกือบหมด ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนกระถางเปลี่ยนดิน ตัดเล็มรากให้น้อยลง
        
                2. การตัดแต่ง
                        การตัดแต่งบอนไซเป็นการบังคับมิให้ต้นไม้โตเกินไป และป้องกันมิให้เกิดการผิดสัดส่วน เสียหรือเปลี่ยนรูปทรง  การดูแลตัด เล็ม กิ่งใบจึง ต้องกระทำอยู่เสมอ
             
                 3. การรดน้ำ
                     การให้น้ำบอนไซจะต้องรดน้ำบอนไซทุกวัน และควบคุมปริมาณน้ำที่ใช้รดแต่ละกระถางให้พอเหมาะ เพราะการวางกระถางบอนไซต้องอยู่ในที่โล่ง เพื่อรับแสงแดดอย่างพอเพียง มีลม อากาศถ่ายเทอย่างดี ดังนั้นเมื่อไม้ตากแดดตากลม ตลอดวัน ดินในกระถางก็จะแห้งเร็ว การให้น้ำมากเกินไปก็จะทำให้บอนไซโตเร็วหรือดินอาจแฉะเกินไปทำให้รากเน่าได้ แต่ถ้าขาดน้ำบอนไซก็จะเหี่ยวเฉาและตายในที่สุด
          
                4. แสงแดด
                       บอนไซที่ปลูกจนอยู่ตัวแล้ว ควรตั้งไว้ในที่ๆแสงแดดส่องได้ตลอดวัน แสงแดดช่วยเจริญเติบโตของต้นไม้ก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันก็ช่วยบังคับมิให้สูงเร็วเกินไป และทั้งจะเป็นการช่วยให้ลำต้นแข็งแกร่งใบเขียวจัดและขนาดใบจะเล็กลง ควรทำชั้นสำหรับวางโดยให้ความสูงของแต่ละชั้นลดหลั่นกันไป หรือมีแท่นรองสูงพอประมาณ จะเป็นการสะดวกต่อการดูแลตรวจตราต้นไม้แต่ละต้นได้ทั่วถึง และยังทำให้ไม้ดูเด่นสวยงามอีกด้วย ต้นไม้ที่อยู่ในที่ร่มมาก ย่อมสูงชะลูด ทำให้รูปลักษณะบอนไซเสียไป
           
                 5.  ลม
                         ควรตั้งบอนไซไว้ในที่ๆ มีลมโกรกอยู่เสมอ จะสังเกตได้ว่าต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนเขา และริมฝั่งทะเล ยืนต้านลมแรง ต้นไม้เหล่านี้มักไม่ใคร่สูงและมีรูปทรงผิดธรรมชาติ ฉะนั้นลมจึงช่วยควบคุมให้บอนไซไม่ให้โตเกินไป แต่การที่มีลมโกรกอยู่ตลอดเวลาก็จะทำให้ดินแห้งเร็ว จึงต้องคอยสังเกตและแก้ปัญหาด้วยการพรมน้ำให้เมื่อเห็นว่าหน้าดินเริ่มแห้ง










ขอบคุณรูปภาพจากอินเตอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น