วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

10 คาถา ฝ่าวิกฤต

1. เมื่อรู้สึกว่า กำลังจะสติแตก
ให้บอกตัวเองว่า "ทุกปัญหามีทางออก แค่ยังหาไม่เจอ"
(ยามภาวะวิกฤติ การสูญเสียความมั่งคงทางกายและใจ เพราะการรู้สึกถูกคุกคามอย่างกระทันหัน ทำให้ตั้งสติได้ยาก สติไม่มี ปัญญาไม่เกิด จึงมองไม่เห็นทางออกของปัญหา)
วิธีคือ ถ้ารู้ว่าเรากำลังจะเจอปัญหา ให้ใช้เวลากับการเตรียมตัวและหาข้อมูล
ถ้ากำลังเผชิญกับปัญหา หายใจเข้าออกอย่างผ่อนคลาย แล้วเตือนตัวเอง เพื่อตั้งสติ

 2. เมื่อรู้สึกว่า ในหัวเต็มไปด้วยความคิด
ให้บอกตัวเองว่า "อย่าคิดเองเออเอง"
(ความเครียดทำให้เราฟังกันน้อยลง คิดเอาเองมากขึ้น)
วิธีคือ เดินออกไปพูดคุยกับคนใกล้ๆ คุณบ้าง รับฟังความทุกข์ของเขาแทนการหมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง )

3. เมื่อรู้สึกว่า ยิ่งพูดยิ่งกังวล
ให้บอกตัวเองว่า "จงเปลี่ยนคำพูด เป็นการกระทำ"
วิธีคือ มองหาโอกาสในการช่วยเหลือคนอื่น เข้าร่วมกิจกรรม เพราะการเอาใจใส่คนอื่นมากขึ้นจะให้ความทุกข์ของเราลดลง

4. เมื่อรู้สึกว่า เราช่างโชคร้าย
ให้บอกตัวเองว่า "ดูดีๆ โชคดีก็มีอยู่"
(เวลาจิตตกเรามักมองทุกอย่างในแง่ลบ และคิดว่าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำเกินความเป็นจริง)
วิธีคือ มองหาสิ่งดี ๆ ที่ง่ายที่สุด ใกล้ตัวที่สุด เช่น เสียทรัพย์แต่โชคดีปลอดภัย , โชคดีที่เราไม่ป่วย, ถึงป่วยก็โชคดีที่เราไม่ตาย, โชคดีที่ยังได้ความช่วยเหลือ เป็นต้น

5. เมื่อรู้สึกว่า โกรธ
ให้บอกตัวเองว่า "โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า"
(ในภาวะวิกฤต ทุกคนย่อมมีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดโดยธรรมชาติ เกิดความกล้าในการพูด คิด หรือลงมือทำตามความต้องการของตนเอง จนอาจเกิดเป็นความขัดแย้งกับคนอื่นได้ง่าย)
วิธีคือ ไม่ด่า ไม่ว่า ไม่ทับถม ออกไปทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทำให้ได้ออกแรง จำไว้ว่าไม่ว่าจะทำอะไรในเวลาโกรธ สุดท้ายมันจะกลายเป็นการทำร้ายตัวเองและคนรอบข้าง

6. เมื่อรู้สึกว่า ท้อแท้
ให้บอกตัวเองว่า "เดี๋ยวมันก็ผ่านไป"
(ความท้อแท้เกิดขึ้นเมื่อเรามองไม่เห็นทางออกของปัญหา ไม่รู้จะทำอย่างไร รู้สึกโดดเดี่ยว ไร้จุดหมาย นี่คือสัญญาณของการขาดกำลังใจ)
วิธีคือ เร่งสร้างกำลังใจโดย คิดถึงสิ่งที่ทำให้รู้สึกมั่นคงเช่น ความรักของคนในครอบครัว ศรัทธาที่เคยยึดมั้น เป้าหมายชีวิตที่มี

7. เมื่อรู้สึกว่า เหนื่อยล้า
ให้บอกตัวเองว่า "เหนื่อยนัก ก็พักบ้าง"
(เมื่อเราเจอวิกฤตไปสักระยะ สิ่งที่ต้องทำ เรื่องที่ต้องคิด ภาพที่ต้องเห็น เสียงที่ต้องได้ยิน อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยกาย เหนื่อยใจซึ่งทั้งสองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กัน)
วิธีคือ สร้างความสงบ เพื่อให้เกิดการผ่อนคลายจากภายใน โดยให้รู้สึกตัวไปกับลมหายใจเข้าออกช้า ๆ อย่างผ่อนคลาย

8. เมื่อรู้สึกว่า ได้เวลานอน
ให้บอกตัวเองว่า "การนอนคือสิ่งสำคัญ"
วิธีคือ เข้านอนซะ ถึงแม้ว่าจะนอนไม่หลับก็ให้นอนแผ่ในท่าที่สบาย แล้วก็หลับตา จิตนาการถึงบรรยากาศที่ผ่อนคลาย หรือรู้สึกตัวอยู่กับลมหายใจไปเรื่อยๆ จะหลับหรือไม่ก็ช่างมัน

9. เมื่อรู้สึกว่า ไม่มีอะไรทำ
ให้บอกตัวเองว่า "บริหารร่างกายเข้าไว้ ให้ร่างกายแข็งแรง"
(เมื่อพ้นช่วงชุลมุน ขนข้าวของอพยพกันแล้ว การอยู่ในบ้านที่ถูกตัดขาดหรือศูนย์อพยพ อาจทำให้กิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราหายไป)
วิธีคือ กายบริหารง่าย ๆ ตามสถานที่และเวลาที่เหมาะสม ประมาณ 30 นาที เพราะการไหลเวียนเลือดที่ดีจะทำให้สมองมีพลังและดีต่อการคิดตัดสินใจ

10. เมื่อรู้สึกว่า มีอะไรต้องทำมากมาย
ให้บอกตัวเองว่า "เราทำทุกอย่างไม่ได้ แต่เลือกทำสิ่งที่สำคัญได้"
(การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา อาจทำให้รู้สึกว่ามีสิ่งที่ต้องคิด ต้องทำมากมาย)
วิธีคือ เอากระดาษกับปากกามาจด แยกระหว่าง สิ่งสำคัญที่รีบด่วน กับสิ่งสำคัญไม่รีบด่วน แล้วค่อยๆ ลงมือทำ

ผู้แต่ง: พ.ญ. พิยะดา หาชัยภูมิ ดัดแปลงจากเอกสารกรมสุขภาพจิต โดย นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล - dmhstaff@dmh.go.th - 7/11/2011


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น