วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

"คัมภีร์" การลงทุน

วันนี้ขอเขียนเรื่องการลงทุนหน่อยแล้วกันครับ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และทุกคนไม่ว่าอยู่ในวัยใด ก็ควรทำความเข้าใจกับเรื่องนี้กันสักนิดหน่อย หลายๆ คน มักจะคิดว่าเรื่องการลงทุนเป็นเรื่องไกลตัว และคิดว่าไว้คอยให้มีเงินก่อนค่อยคิดเรื่องการลงทุนแล้วกัน แต่ผมว่าคนทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน น่าจะเริ่มคิดได้แล้วว่า จะดำรงชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการได้อย่างไร ถ้ามีครอบครัวจะหาเลี้ยงครอบครัวอย่างไร และถ้าถึงวัยเกษียณอายุ ไม่ต้องทำงาน (และไม่มีรายได้) แล้ว จะทำอย่างไรให้สามารถดำเนินชีวิตแบบสบายๆ โดยไม่เป็นภาระกับคนอื่นได้อย่างไร
จริงอยู่ครับ ว่าเงินไม่ได้ใช้ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต และเราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อเงิน แต่ก็ต้องยอมรับละครับ ว่าทุกวันนี้เงินเป็นสื่อกลางในการได้มาซึ่งสิ่งที่ชีวิตต้องการ เพราะฉะนั้นผมว่าการใช้เงินอย่างฉลาด พอเหมาะ พอควรกับฐานะ จะนำไปสู่ความสุขได้ครับ
ผมมีหลักง่ายๆ ในการลงทุนห้าข้อ มาให้พิจารณากันครับ หวังว่าอ่านแล้วคงเป็นประโยชน์และนำไปประยุกต์ใช้กันได้นะครับ

1.รู้จักออม
สิ่งแรกก่อนที่จะลงทุนคือต้องมีเงินจะไปลงทุนซะก่อน เงินออมก็คือเงินรายได้ที่เราไม่ได้ใช้ การรู้จักออม ก็คือการรู้จักหารายได้ และการรู้จักใช้ ข้อนี้ผมคงไม่ได้ต้องพูดมากมั้งครับ เพราะผมเชื่อว่าทุกคนคงรู้เกี่ยวกับโอกาสในการหารายได้ และรายจ่ายที่จำเป็นของตัวเองในปัจจุบันเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่อยากให้คิดถึงคือ การตัดสินใจใช้จ่ายในปัจจุบัน ควรคำนึงถึงรายได้และรายจ่ายในอนาคตไว้ด้วย เช่นว่า คนที่มีรายได้ในปัจจุบันมาก ก็ไม่ควรจะใช้ให้หมดในปัจจุบัน เพราะในอนาคตเราอาจจะมีรายจ่ายที่มากกว่านี้ และรายได้ไม่ได้สูงเท่าปัจจุบัน
พูดแบบนี้คนที่มีรายได้ปัจจุบันน้อย และคิดว่าวันหลังคงมีรายได้มากกว่านี้แน่ๆ ก็อาจจะเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลในการกู้เงินโดยใช้รายได้ในอนาคตมาเป็นหลักประกัน เอาเงินมาใช้จ่ายก่อน แล้วค่อยจ่ายคืนทีหลัง ซึ่งผมว่าก็มีเหตุผลดี แต่อย่าลืมนะครับว่าอนาคตมีแต่ความไม่แน่นอน ใครจะรู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น รายได้ที่เราคิดว่าจะมาแน่ๆ อาจจะไม่มาก็ได้ เพราะฉะนั้นใช้แต่ที่จำเป็นและอดออมไว้ก่อนเป็นดีครับ
2.รู้จักทางเลือก
พอเรามีเงินออมแล้ว ต่อมาคือเราต้องรู้จักศึกษาหาทางเลือกในการเก็บเงินออมของเรา (เพราะเรามีทางเลือก มากกว่าฝากธนาคาร!) และสิ่งที่สำคัญคือเราต้องรู้จักศึกษาทางเลือกเหล่านั้นให้ดีๆ แต่ละทางเลือกในการลงทุนมีคุณสมบัติด้าน ผลตอบแทน สภาพคล่อง ลักษณะของกระแสเงินสด ปัจจัยเสี่ยง และระดับความเสี่ยงต่างๆ กันไป ตัวอย่างเช่น การฝากธนาคาร (โดยทั่วไป) มีระดับความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง แต่ก็มีผลตอบแทนต่ำ การเล่นหุ้นมีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยสูงกว่า มีสภาพคล่องสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงด้วย เช่นกัน
ผมว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับพลังมหัศจรรย์ของผลตอบแทนทบต้นมามากแล้วใช่ไหมครับ ถ้าเราสามารถหาทางเลือกในการลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนโดยเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี เงินต้นของเราจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายใน 15 ปี แต่ถ้าเราสามารถหาทางให้เงินลงทุนของเราทำงานหนักขึ้น และให้ผลตอบแทนแก่เราโดยเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี เงินของเราจะเพิ่มเป็นสองเท่าภายใน 9 ปีเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นการเลือกลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ช่วยร่นระยะเวลาถึงเป้าหมายทางการเงินของเราได้อย่างเห็นได้ชัด แต่อย่าลืมนะครับว่าสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย
ทุกวันนี้โลกแห่งการเงินพัฒนาไปมาก และเรามีทางเลือกมากมายในการลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการของเรา นอกจากนี้ยังมีกองทุนต่างๆ เปิดโอกาสให้คนที่มีเงินลงทุนน้อยสามารถเข้าถึงการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้มากขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำ นอกจากนี้ เดี๋ยวนี้รัฐบาลยังส่งเสริมให้คนลงทุนโดยให้แรงจูงใจทางภาษีมากมาย ก็ศึกษาและทำความเข้าใจกับทางเลือกเหล่านี้ไว้ก็ดีครับ ไม่เสียหลาย
นอกจากการลงทุนของเราเองแล้ว อย่าลืมนะครับว่า บางคนอาจจะมีสินทรัพย์อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนประกันสังคม ที่เราจ่ายเงินสมทบอยู่ทุกเดือน แต่ก็อย่าไปหวังอะไรมากนักเลยครับ เพราะพอถึงเวลาที่เราเกษียณ และต้องการเงินตรงนี้ขึ้นมาจริงๆ กองทุนเหล่านี้อาจจะไม่อยู่แล้ว หรืออาจจะไม่ได้จ่ายผลประโยชน์อย่างที่กำลังโฆษณาอยู่ก็ได้ กองทุนประกันสังคมในอเมริกา และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทบางแห่งเป็นตัวอย่างที่ดีครับ (กองทุนประกันสังคมของอเมริกา ถึงกับเขียนเตือนผู้คนไว้บนใบสรุปผลประโยชน์ประจำปีว่า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในเชิงโครงสร้างของกองทุน อีก 35 ปีกองทุน จะเหลือเงินจ่ายเงินผลประโยชน์แค่ร้อยละ 74 ของผลประโยชน์ที่จ่ายให้อยู่ในปัจจุบัน!) ก็คิดถึงความเสี่ยงตรงนี้ไว้นิดนึงนะครับ
3.รู้จักความเสี่ยง
เมื่อรู้จักทางเลือกในการลงทุนแล้ว ก็ต้องรู้จักความเสี่ยงที่มากับการลงทุนด้วย ความเสี่ยงของการลงทุน ก็คือความไม่แน่นอนทั้งหลายที่ทำให้มูลค่าของการลงทุนของเราเปลี่ยนไปจากผลตอบแทนที่เราคาดว่าจะได้ ถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว ไม่มีการลงทุนไหนที่ไม่มีความเสี่ยงเลย (แม้แต่การเอาเงินฝังตุ่มไว้ยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากเงินเฟ้อ ที่ทำให้ค่าของเงินในตุ่มเราลดลงเลยครับ) เราจึงควรทำความเข้าใจถึงปัจจัยความเสี่ยงของการลงทุน ว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้มูลค่าและผลตอบแทนจากการลงทุนของเราเปลี่ยนไปได้บ้าง ปัจจัยเสี่ยงทั่วๆ ไปที่เราควรคิดถึง ก็รวมไปถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงที่เกิดจากราคา (เช่น ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ ราคาที่ดิน ฯลฯ) ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจมหภาค (เช่น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ) ความเสี่ยงทางเครดิต และความเสี่ยงทางเทคนิค (เช่น สั่งขายหุ้นแต่โบรกเกอร์ดันไปซื้อเพิ่ม)
เราอาจจะคิดง่ายๆ ว่า ผลตอบแทนที่เราได้มากขึ้นจากการลงทุนในสินทรัพย์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็คือค่าตอบแทนในการเข้าไปถือปัจจัยเสี่ยงของสินทรัพย์ชนิดนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนเราจึงควรพิจารณาว่า สินทรัพย์ที่เรากำลังตัดสินใจเข้าไปลงทุนนั้น มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง มีระดับความเสี่ยงขนาดไหน และผลตอบแทนที่เราได้รับว่าคุ้มค่ากันหรือไม่ และเรายอมรับความเสี่ยงเหล่านี้ได้หรือไม่
4.รู้จักบริหารความเสี่ยง
เมื่อเรายอมรับว่าไม่มีการลงทุนไหนที่ไม่มีความเสี่ยง เราก็ต้องบริหารความเสี่ยงในการลงทุนของเราให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และยอมรับได้ วิธีการลดความเสี่ยงที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง ก็คือการกระจายความเสี่ยง เพราะความมหัศจรรย์ของคณิต ศาสตร์ที่บอกว่า ถ้าผลตอบแทนของสินทรัพย์สองชนิดไม่เคลื่อนไหวขึ้นลงไปพร้อมกันตลอดเวลาแล้วละก็ (ภายใต้เงื่อนไขบางประการ) เราสามารถสร้างการลงทุนที่ดีกว่า (ในแง่ของการตัดสินใจในภาวะได้อย่างเสียอย่าง ระหว่างผลตอบแทน และความเสี่ยง) โดยการถือสินทรัพย์สองชนิดไว้พร้อมๆ กัน ฝรั่งเขาถึงบอกว่าอย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าเดียว เพราะถ้าตะกร้าหล่นมาเมื่อไรละก็ เราจะไม่มีไข่กินเอานะสิครับ
แต่การลดความเสี่ยงโดยการกระจายความเสี่ยง ก็ลดได้แต่ความเสี่ยง "เฉพาะ" ของสินทรัพย์เท่านั้น การลงทุนทุกชนิดจะมีความเสี่ยงที่ไม่สามารถลดลงได้โดยการกระจายความเสี่ยงเสมอ เราจึงต้องรู้จักปัจจัยความเสี่ยงที่การลงทุนของ เรามี และบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เรายอมรับได้

5.รู้จักตัวเอง
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุน คือต้องรู้จักตัวเอง รู้จักเป้าหมาย และระดับการยอมรับความเสี่ยงของตัวเอง
อย่างที่บอกครับว่า เราควรบริหารเงินลงทุนให้มีระดับผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เหมาะสม และระดับที่เหมาะสมของนักลงทุนแต่ละคนก็ต่างกันไปครับ เช่นว่า นักลงทุนวัยละอ่อน อาจจะสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่า นักลงทุนวัยดึก เพราะถึงขาดทุนไปก็ยังพอมีเวลาเอาคืนได้อยู่
นอกจากความเสี่ยงแล้ว เราควรรู้จักตัวเองว่ากระแสเงินสดในแต่ระยะช่วงเวลาของชีวิตเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น เมื่อเริ่มทำงานไปสักพัก เราอาจจะมีรายได้มากกว่ารายจ่าย (ที่จำเป็นจริงๆ) เราอาจจะรู้สึกร่ำรวยขึ้นมาผิดปกติ และอยากเอาเงินที่ได้มานั้นไปใช้ แต่เราก็ควรวางแผนการใช้เงิน โดยพิจารณาวงจรของชีวิตของตัวเอง เพราะว่าพออายุเพิ่มขึ้น แม้ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นตาม แต่รายจ่ายก็อาจจะตามมาติดๆ เช่นกัน ไหนจะหาเงินแต่งงาน เงินค่านมลูก เตรียมแป๊ะเจี๊ยะลูกเข้าเตรียมอนุบาล ฯลฯ ถ้าใครเกิดมาในครอบครัวร่ำรวย พ่อยกหุ้นให้สองสามหมื่นล้าน อาจจะไม่ต้องคำนึงถึงข้อนี้มากนัก แต่ถ้าคนอื่นไม่โชคดีแบบนี้ก็น่าจะพิจารณาตรงนี้สักนิดนะครับ
พอพิจารณาศึกษาปัจจัยเหล่านี้กันได้แล้ว ก็ถึงเวลาเริ่มลงมือตัดสินใจลงทุนกันเสียที ก่อนอื่นก็ต้องเริ่มคิดละครับว่า เรามีเงินอยู่เท่าไร จะแบ่งเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินเท่าไร และพอจะเอาไปลงทุนได้เท่าไร พอได้เงินก้อนที่จะเอาไปลงทุนแล้ว ก็ต้องเอามาแบ่งในแต่ละ "ชั้นของสินทรัพย์" ละครับ ว่าจะเอาเงินไปลงทุนแต่ละกลุ่มอย่างไร เช่น ชั้นของสินทรัพย์ที่คนทั่วๆ ไปลงทุนก็เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หุ้นตัวใหญ่ หุ้นตัวเล็ก หุ้นกลุ่มพลังงาน หุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว หุ้นในตลาดเกิดใหม่ กองทุนที่ลงทุนในทรัพยากรธรรมชาติและโลหะมีค่า ฯลฯ
อย่าลืมแล้วกันครับ ว่าถ้าเราไม่มีเวลาและความสามารถในการติดตามตลาดการเงินแบบใกล้ชิด โอกาสที่เราจะทำได้ดีกว่า "ค่าเฉลี่ย" ของตลาดในระยะยาวเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย และด้วยพลังของการกระจายความเสี่ยง โดยเฉลี่ยแล้วการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลายๆ ตัวในชั้นของสินทรัพย์เดียวกัน (เช่นถือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัว เช่น SET50 Index Fund) จะให้ผลตอบแทนในระยะยาวสูงกว่า และมีความเสี่ยงต่ำกว่าการซื้อสินทรัพย์เป็นตัวๆ (ผมไม่ได้บอกว่าการซื้อกองทุนจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าการเล่นหุ้นเป็นตัวๆ เสมอไปนะครับ ถ้าใครมีเวลา และความสามารถก็อาจจะลงทุนได้ดีกว่าตลาด ก็ได้ครับ)
ถ้าเรายึดหลักแบบนี้ การตัดสินใจการลงทุนของเรา ก็เหลือแค่การกระจายเงินลงทุนของเราลงไปในแต่ละ "ชั้นสินทรัพย์" โดยที่เราไม่ต้องมานั่งนึกว่าจะซื้อหุ้นตัวไหน กี่หุ้นดี ผมว่ามันง่ายกว่ากันเยอะเลยครับ แต่ถ้าใครรู้สึกว่ามันยังยากเกิน จะไปซื้อกองทุนที่เขาออกแบบมาให้แล้ว ก็ไม่ผิดอะไร แต่อย่าลืมศึกษาก่อนลงทุนแล้วกันครับ ว่าเขาเอาเงินเราไปทำอะไรบ้าง
อย่างนี้ต้องจบแบบโฆษณาชวนเชื่อทั่วไปครับ "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน"
(คอลัมน์ มองซ้ายมองขวา โดย ณ พัฒน์ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 3786)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น